ขอแนะนำ สมุนไพรโลดทะนงแดง ที่ช่วยรักษาผิว ลดการอักเสบของผิว ลดฝ้า
โลดทะนงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baliospermum reidioides Kurz) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
สมุนไพรโลดทะนงแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ทะนง รักทะนง (นครราชสีมา), นางแซง (อุบลราชธานี), โลดทะนงแดง (บุรีรัมย์), ดู่เบี้ย ดู่เตี้ย (เพชรบุรี), ทะนงแดง (ประจวบคีรีขันธ์), ข้าวเย็นเนิน หัวยาเข้าเย็นเนิน (ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์), หนาดคำ (ภาคเหนือ) เป็นต้น
ลักษณะของโลดทะนงแดง
ต้นโลดทะนงแดง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 1 เมตร มีรากสะสมอาหารพองโต ผิวสีแดงอมสีม่วง เนื้อสีขาว ส่วนลำต้นมีขนาดเรียวเล็ก ขึ้นเป็นกอ โดยทุกส่วนของต้นจะมีขนขึ้น โดยลำต้นจะมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น สามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และตามป่าดิบแล้ง
ใบโลดทะนงแดง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน เนื้อใบหนามีขนนุ่มขึ้นหนาแน่นบนผิวใบทั้งสองด้าน ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก มีความกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน มีต่อมเล็ก ๆ อยู่ 2 ต่อม ส่วนขอบใบเรียบ สามารถเห็นเส้นใบย่อยได้ชัดเจน และมีก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
ดอกโลดทะนงแดง ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ ดอกมีสีขาว สีชมพู สีม่วงเข้มหรือเกือบดำ โดยช่อดอกจะออกบริเวณซอกใบและบริเวณกิ่งก้าน มีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะมีดอกตัวผู้จำนวนมากกว่าอยู่ที่บริเวณโคนของช่อ มีลักษณะตูมกลม และดอกตัวผู้จะมีกลีบเลี้ยงอยู่ 5 กลีบ ก้านดอกมีขน มีกลีบดอก 5 กลีบ และไม่มีขน มีเกสรตัวผู้จำนวน 6 อัน ก้านเกสรจะเชื่อมติดกันเป็นแท่งเดียว ส่วนดอกตัวเมียจะมีลักษณะตูมเป็นรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีขน ที่จานฐานดอกล้อมรอบฐานของรังไข่ มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผลโลดทะนงแดง ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ผลแห้งแตกได้ มีขนสั้นนุ่มขึ้นปกคลุมผลอยู่หนาแน่น ผลแบ่งออกเป็นพู 3 พู เห็นได้ชัดเจน ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร มีก้านผลสีแดงมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดลักษณะค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม สีเหลือง ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผิวเรียบ
หมายเหตุ : โลดทะนง มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ “โลดทะนงแดง” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib) ที่กล่าวในบทความนี้ และอีกชนิดคือ “โลดทะนงขาว” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostemon albiflorus Airy Shaw)[5] โดยทั้งสองชนิดคนส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเป็นไม้สมุนไพร แต่ส่วนมากจะรู้จักเฉพาะ “โลดทะนงแดง” ส่วนโลดนงขาวนั้นน้อยคนนักที่จะรู้จัก เนื่องจากเป็นไม้หายาก จึงนิยมใช้โลดทะนงแดงในการแก้พิษกันมากกว่า โดยทั้งสองชนิดนี้มีข้อแตกต่างกันตรงเปลือกหุ้มราก ถ้าเปลือกหุ้มรากเป็นสีแดงจะเรียกว่า “โลดทะนงแดง” หากเปลือกหุ้มรากเป็นสีดำจะเรียกว่า “โลดทะนงขาว“
สรรพคุณของโลดทะนงแดง
โลดทะนงแดง สรรพคุณของรากใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้วัณโรค (ราก)
ช่วยแก้หืด (ราก)
ช่วยทำให้อาเจียน โดยใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ฝนกับน้ำกิน หรือใช้รากเข้ายากับน้ำมะนาว ฝนกับน้ำกินก็ได้
ใช้เป็นยาระบาย (ราก)
ช่วยในการคุมกำเนิด
ช่วยถอนพิษคนกินยาเบื่อยาเมา ด้วยการใช้รากนำมาต้มน้ำดื่ม หรือใช้ฝนกับน้ำกิน ใช้รากเข้ายากับน้ำมะนาว ฝนกับน้ำกินก็ได้
ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ หรืออาการเสมหะหรืออุจจาระเป็นมูกเลือด (ใช้รากฝนกับน้ำกิน)
รากใช้เข้ายากับน้ำมะนาว ใช้ฝนกับน้ำกิน ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (ราก)
แก้อาการเมาพิษเห็ดและหอย (ใช้รากฝนกับน้ำกิน)
ช่วยแก้พิษแมงมุม (ใช้รากเข้ายากับน้ำมะนาว ฝนกับน้ำกิน)
ช่วยแก้พิษงู โดยใช้รากฝนกับน้ำมะนาวหรือเหล้านำมาดื่มแก้พิษงู หรือจะใช้รากผสมกับเมล็ดหมาก ฝนกับน้ำกิน แล้วใช้รากผสมกับน้ำมะนาว นำมาทาแผลจะช่วยแก้พิษงูที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทก็ได้ และให้นำส่วนที่เหลือมาผสมกับน้ำดื่มเพื่อช่วยขับพิษงูอีกทาง (ราก)
ช่วยแก้อาการปวดฝี (ราก)
รากใช้ฝนเกลื่อนฝี หรือใช้ดูดหนองเมื่อฝีแตก (ราก)
รากนำมาใช้ฝนทาแก้อาการฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอก (ราก)
รากใช้ผสมกับปลาไหลเผือก และพญาไฟ ใช้ฝนกับน้ำกินถอนเมาเหล้า (ราก)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโลดทะนงแดง
จากการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง ด้วยการป้อนน้ำยาสมุนไพรโลทะนงแดงที่ความเข้ม 50 กรัมต่อลิตร หลังจากหนูทดลองได้รับพิษงูเห่าด้วยการฉีดพิษเป็นเวลา 5 นาที พบว่าน้ำยาโลดทะนงแดงสามารถช่วยืดอายุการตายของหนูได้
มีนักวิจัยพิสูจน์มาแล้วว่าสารจากโลดทะนง สามารถช่วยจับกับโปรตีนพิษงูได้จริง
ประโยชน์ของโลดทะนงแดง
รากใช้ฝนกับน้ำกินช่วยทำให้เลิกดื่มเหล้า (ราก)
เหง้าใช้ฝนทาแก้สิว แก้ฝ้า (เหง้า) (ซึ่งได้ใช้เป็นส่วนประกอบของ สบู่แชมเปญ สบู่ผิวขาว สบู่ผิวใส)
โรงพยาบาลกาบเชิงได้มีการใช้ตำรับยาสมุนไพรโลดทะนงแดงในการรักษาผู้ที่ถูกงูเห่ากัดประมาณ 80 ราย โดยไม่ต้องใช้เซรุ่มแก้พิษงู และพบว่าทุกรายปลอดภัยไม่มีเสียชีวิต นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามเคยวิจัยโดยใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการรักษาตำรวจตระเวนชายแดนที่ถูกงูเห่ากัดจำนวน 36 นาย โดยไม่ใช้เซรุ่มแก้พิษในการรักษา และพบว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงอีกด้วย
แม้การใช้เซรุ่มจะแก้พิษงูเห่าได้ แต่แผลที่เปื่อยจากพิษงู เซรุ่มไม่ได้ช่วย ถ้าหากใช้โลดทะนงแดง พิษของงูก็จะสลายและแผลก็ไม่เปื่อย (นพ. วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์)
ที่มา : http://www.miracle-soaps.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น